Risk Management Forum

ศูนย์ข้อมูลความรู้เกี่ยวกับ การบริหารจัดการความเสี่ยง ควบคุมภายใน ตรวจสอบ Compliance

นวัตกรรม CSR ศตวรรษที่ 21 เน้นความยั่งยืนระยะยาว-เรื่องที่ 709

อาจารย์จิรพร สุเมธีประสิทธิ์

sumetheeprasit@hotmail.com

https://chirapon.wordpress.com

WP_20150509_12_51_53_Pro

การทำกิจกรรมเพื่อสังคมหรือ Corporate Social Responsibility ตามแนวทางบริหารกิจการสมัยใหม่ ไม่ได้มาจากความตั้งใจของกิจการเป็นหลักอีกต่อไป หากแต่กลายเป็นเรื่องที่มีอิทธิพลมาจากพัฒนาการทางสังคม เศรษฐกิจและการเมืองที่เป็นอยู่ในระดับโลกและในระดับพื้นที่ จนส่งผลให้แต่ละกิจการต้องหันมาทบทวนโมเดลธุรกิจและกลยุทธ์การดำเนินงานของกิจการ เพื่อให้มั่นใจว่า CSR ของกิจการได้พิจารณาอย่างรอบคอบเกี่ยวกับผลกระทบต่อสังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม

แนวโน้มในอนาคตทำให้เชื่อว่าภาคประชาสังคมมีความคาดหวังว่า

  • กิจการจะมีส่วนในการช่วยดูแล รักษา เยียวยาอนุรักษ์สังคม เศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง และเน้นผลในเชิงประจักษ์
  • ผู้บริโภค พนักงานกิจการ กิจการในห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ภาครัฐจะมีพฤติกรรมในทางบวกและส่งเสริมกิจการในการดำเนินการ CSR

พัฒนาดังกล่าวได้ทำให้กิจการต้องยอมรับว่าบทบาทและกิจกรรม CSR ของตนต้องขยายวงกว้างออกไป ไม่ใช่เพื่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของกิจการ หากแต่เพื่อสังคมโดยรวมอย่างแท้จริง เพียงแต่บางกิจการสามารถแสวงหาประโยชน์หรือเพิ่มความได้เปรียบในการที่ทำกิจกรรม CSR ตามแนวโน้มดังกล่าวได้อย่างเพียงพอ และมีองค์ประกอบที่ครบถ้วน

แนวโน้มในอนาคตของความคาดหวังต่อการทำกิจกรรมCSR ของกิจการมีประเด็นที่น่าสนใจหลายประการ

ประการที่ 1

มาตรฐาน CSR ในระดับสากลมีแนวโน้มที่จะขยับเข้ามาใกล้เคียงกันมากขึ้น

ภายหลังจากสภาองค์การ ISO ได้ออกโรงศึกษาและประกาศใช้ ISO 26000 : Social Responsibility ได้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนเกี่ยวกับแนวโน้มของการที่ทั่วโลกจะอยู่บนมาตรฐานของกิจกรรม CSR ได้

แนวทางปฏิบัติที่เป็นกิจกรรม CSR จึงมีแนวโน้มที่จะใกล้เคียงกัน ไม่ว่าจะเป็นกิจการขนาดใหญ่ กลาง หรือแม้แต่ขนาดเล็ก

ประการที่ 2

กิจกรรม CSR มีแนวโน้มจะเชื่อมโยงกับกลยุทธ์ระดับองค์กรมากขึ้น

แต่เดิมกิจกรรม CSR ของหลายกิจการอาจจะเป็นการกำหนดแผนงานจรขึ้นมาเพื่อทำกิจกรรม CSR บางอย่างในแต่ละปีเป็นเรื่องๆ ไป แต่เนื่องจากความสำคัญของ CSR ต่อความยั่งยืนของกิจการในระยะยาว ทำให้กิจการต้องใช้มุมมองใหม่กับ CSR และวางกิจกรรม CSR ไว้ในระดับกลยุทธ์ขององค์กรที่เป้นภาระผูกพันและต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่เรื่องของกิจกรรมชั่วครั้งชั่วคราวอีกต่อไป

เมื่อ CSR เป็นเรื่องของกลยุทธ์ระดับองค์กร กิจการจึงต้องกำหนดโอกาสทางธุรกิจและโอกาสทางสังคม เศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมจะแทรกกิจกรรม CSR ของกิจการให้เกิดประโยชน์สูงสุดและเหมาะสม

ประการที่ 3

กิจกรรม CSR ได้เปลี่ยนวัตถุประสงค์การดำเนินงานจากกิจกรรมหรือความสนใจเสริมเป็นพิเศษสู่กิจกรรมที่เป็นหัวใจหลักของการดำเนินกิจการทุกประเภท และถูกจัดลำดับความสำคัญอยู่ในระดับสูงลำดับต้นๆ ที่มีการกำหนดวงเงินงบประมาณและได้รับการจัดสรรทรัพยากร เวลา บุคลากรมาดำเนินกิจกรรม CSR อย่างชัดเจน

ประการที่ 4

การบริหารต้นทุนของการทำกิจกรรม CSR เป็นแนวทางบริหารจัดการเกิดใหม่ที่เพิ่มขึ้นมาและแยกเป็นการบริหารแนวใหม่ที่เรียกว่า “การบริหารต้นทุนเชิงกลยุทธ์” หรือ Strategic Cost Management

แนวคิดหลักของการบริหารต้นทุนของการทำกิจกรรม CSR คือ หากแทรกกิจกรรม CSR ในกระบวนงาน ภาระงาน และการดำเนินธุรกรรมตามปกติของกิจการได้ ไม่ต้องแยกกิจกรรมออกมาต่างหากและต้องเกิดต้นทุนการดำเนินงานเพิ่มเติม กิจการก็จะสามารถประหยัดต้นทุนของการทำ CSR ได้

ในการดำเนินการบริหารต้นทุนส่วนนี้จะเปลี่ยนจากการเรียก CSR เฉยๆไปเป็น Strategic CSR แทนและถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของเครื่องมือการสร้างแบรนด์และมูลค่าของกิจการในระยะยาว

นอกจากนั้น

นอกจากนั้น Strategic CSRได้เพิ่มเป้าหมายของการดำเนินงานออกไปสู่ลูกค้าและกลุ่มเป้าหมายภายนอกที่อาจจะเป็น

  • ผู้บริโภค
  • ผู้ประกอบการอื่นในห่วงโซ่อุปทาน
  • ผู้ด้อยโอกาส ตกทุกข์ได้ยาก กลุ่มที่ไร้ความสามารถในการช่วยเหลือตนเองได้ตามลำพัง

นอกจากนั้น การบริหารต้นทุนยังขยายไปสู่การบริหารความคุ้มค่าของการลงทุนในกิจกรรม CSR ด้วย ซึ่งทำให้กิจกรรม CSR ต้องกำหนดเครื่องมือในการวัดผลลัพธ์ของการดำเนินงานให้ชัดเจนตั้งแต่ก่อนการดำเนินกิจกรรม CSR โดยต้องกำหนดเงื่อนไขและเกณฑ์ในการวัดผลการดำเนินงานของ CSR ว่าจะวัดผลลัพธ์ที่เกิดอย่างไร เพื่อที่จะได้รู้ว่าต้นทุนที่ใช้ไปกับกิจกรรมCSRมีผลที่คุ้มค่ามากน้อยเพียงใด

วิธีการวัดผลการทำกิจกรรม CSR อาจจะเป็นการวัด

  • ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ
  • ผลตอบแทนทางสังคม
  • ผลตอบแทนทางด้านสิ่งแวดล้อม
  • ผลตอบแทนด้านการสร้างมูลค่าเพิ่มแก่กิจการ

ประการที่ 5

การทำกิจกรรม CSR ยังมีโอกาสที่จะสร้างนวัตกรรมได้อีก

นวัตกรรมของกิจกรรมCSRที่เห็นได้ชัดเจนมากขึ้นในตอนนี้คือคำว่า “ความยั่งยืน” หรือ Sustainability ซึ่งเน้นกิจกรรม CSR ที่ไม่ใช่เรื่องฉาบฉวย ซึ่งอาจจะครอบคลุมถึง

  • กระบวนการจัดหาวัตถุดิบ ปัจจัยนำเข้าสู่กิจการ
  • กระบวนการผลิตหรือแปรรูป
  • กระบวนการกำจัดขยะที่เกี่ยวข้องกับสินค้าและบริการที่ส่งมอบ
  • กระบวนการนำขยะ ของสูญเปล่าจากกิจการมาสร้างเป็นผลผลิตใหม่ที่มีมูลค่าเพิ่ม

ทั้งนี้การทำกิจกรรม CSR อย่างมีนวัตกรรมจำเป็นต้องอาศัยตัวขับเคลื่อนสำคัญคือ

  • ความเป็น Learning Organization
  • โครงสร้างองค์กรหรือ Organizational Structure
  • องค์ประกอบทางสังคมที่เกี่ยวข้อง
  • ปรัชญาในการดำเนินงานอย่างมีจริยธรรมของกิจการ
  • สถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่เป็นสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่ไม่เกิดภัยพิบัติ วิกฤติการณ์จนกระทบต่อการดำเนินงานโดยรวม ทำให้การดำเนินงานยังอยู่ในภาวะปกติ

สนใจเชิญบรรยายหัวข้อนี้ติดต่อ sumetheeprasit@hotmail.com

 

 

พฤษภาคม 10, 2015 - Posted by | ไม่มีหมวดหมู่

ยังไม่มีความเห็น

ใส่ความเห็น