Risk Management Forum

ศูนย์ข้อมูลความรู้เกี่ยวกับ การบริหารจัดการความเสี่ยง ควบคุมภายใน ตรวจสอบ Compliance

ความเสี่ยงชื่อเสียง (Reputation Risk) ความเสี่ยงธุรกิจบนความเสี่ยงปฏิบัติการ เรื่องที่ 874

อาจารย์ จิรพร  สุเมธีประสิทธิ์

sumetheeprasit@hotmail.com

https://chirapon.wordpress.com

กิจการส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับการบริหารผลดำเนินงานประจำ ยึดติดกับการทำงานตามภาระงานและตัวชี้วัด หรือ KPIs จนอาจจะมองข้ามประเด็นของชื่อเสียง ซึ่งที่แท้จริงแล้วเป็นตัวชี้วัดผลดำเนินงานด้วย จนเมื่อใดที่เกิดเรื่องขึ้นมาครั้งหนึ่ง ก็จะพบว่ามีความเสี่ยงที่ชื่อว่า “ความเสี่ยงด้านชื่อเสียง” เป็นความเสี่ยงทางธุรกิจที่สำคัญ

สภาพความเป็นจริงในโลกธุรกิจ มักพบว่าผู้บริการและผู้มีอำนาจตัดสินใจของกิจการไม่อาจจะคอยเฝ้าระวังความเสี่ยงที่จะกระทบต่อชื่อเสียงของแบรนด์หรือภัยคุกคามจากภายนอกได้ ตลอดทั้งวันทั้งคืน ขณะที่สื่อสังคมออนไลน์ได้ทำให้ประเด็นร้อนถูก Upload ไปปรากฏในสังคมออนไลน์ในชั่วเวลาเพียงไม่กี่นาทีเท่านั้น จากผู้ที่ประสบเหตุและอยู่ในเหตุการณ์ และหลังจากนั้นอีกไม่นานเรื่องราวก็กระจายออกไปในวงกว้างอย่างรวดเร็ว

รายงานการศึกษามากมายได้ชี้ว่า มีกิจการเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่มีการวางกลไก หรือระบบในการตรวจจับข้อบ่งชี้ที่เกี่ยวข้องกับมูลค่าของแบรนด์และของกิจการอย่างเป็นระบบและอย่างสม่ำเสมอต่อเนื่อง

ยิ่งกว่านั้น มีกิจการเพียงไม่กี่แห่งที่เชื่อว่ากิจการของตนจะมีโอกาสน้อยมากที่จะปรากฏเป็นข่าวทางลบบนสื่อสังคมออนไลน์

สิ่งที่กิจการต้องปรับเปลี่ยนเป็นอันดับแรกในเรื่องนี้ คือ การปรับเปลี่ยนความคิดเกี่ยวกับการบริหารผลดำเนินงานด้านชื่อเสียงของแบรนด์และของกิจการในยุคสื่อสังคมออนไลน์ เพราะในแต่ละวินาที กิจการมีโอกาสที่จะเกิดปัญหากับชื่อเสียงได้ตลอดเวลา ทั้งโดย (ก) ความตั้งใจหรือ (ข)ความไม่ตั้งใจ กิจการต้องมีตัวชี้วัดเพิ่มขึ้นมาเป็นอีกตัวชี้วัดหนึ่ง และอาจจะเป็นตัวชี้วัดความเสี่ยงด้านธุรกิจของกิจการด้วยก็ได้

ประเด็นที่กิจการควรจำคำนึงถึงในการบริหารความเสี่ยงด้านชื่อเสียง ได้แก่

ประการที่ 1

กิจการจะต้องปรับการรับรู้และสร้างข้อมูลความเสี่ยงด้านชื่อเสียงของแบรนด์และของกิจการใหม่ ให้ได้ข้อมูลความเสี่ยงที่เพียงพอ เป็นปัจจุบัน และชัดเจน โดยใช้การดำเนินการรับรู้และสร้างข้อมูลความเสี่ยงด้านชื่อเสียงบนสมมติฐานว่า ชื่อเสียงของแบรนด์และของกิจการมีโอกาสถูกโจมตีได้ตลอดเวลา และอาจจะเป็นเป้าหมายของการโจมตีของคนที่อยู่ร่วมในเหตุการณ์ด้วยซ้ำ

ประการที่ 2

นำเอาข้อมูลความเสี่ยงที่ทบทวนและสอบทานอย่างดีแล้ว มาวิเคราะห์และประเมินผลกระทบที่จะเกิดขึ้นว่ามีความเป็นไปได้ที่จะเกิดอะไรขึ้นบ้าง

กรณีที่กิจการเองไม่มีประสบการณ์มาก่อนก็อาจจะ

  • ใช้ประสบการณ์ ข้อมูลสาธารณะที่เกิดกับกิจการอื่น
  • ใช้การสร้างฉากด้วย worst-case scenario

ประการที่ 3

ระบุแนวทางตอบโต้ ทั้งในเชิงแก้ข่าวและการกันข่าวออกไปที่เป็นไปได้ ตั้งแต่วินาทีแรกที่เริ่มมีข้อบ่งชี้ว่าจะเกิดผลทางลบ

นอกจากการวางแนวทางตอบโต้แล้ว การดำเนินการเชิงรุก จะเป็นเรื่องของการเฝ้าระวัง ติดตาม สอดส่องทุกระยะที่มีโอกาสเสี่ยง จนกระบวนการดำเนินงานหรือการให้บริการสามารถส่งมอบผลผลิตเสร็จสิ้นตามภารกิจ

ประการที่ 4

การบริหารความเสี่ยงสมัยใหม่จะมีความเพียงพอก็ต่อเมื่อ ครอบคลุม 360 องศา

  • Inside-out
  • Outside-in

ซึ่งจะทำให้กิจการให้ความสำคัญกับความเสี่ยงด้านชื่อเสียง ที่เป็นการเน้นมุมมองจากภายนอกสู่ภายใน หรือจากความคาดหวังสู่การบริหารผลดำเนินงาน ด้วยการ

  • รับรู้สิ่งที่รู้อยู่แล้ว known knowns หรือ Inside-out
  • รับรู้สิ่งที่ไม่เคยรับรู้มาก่อน known unknowns หรือ Outside-in

ประการที่ 5

วิธีการสร้างการรับรู้ ทำได้โดยการหาข้อมูลพื้นฐาน (baseline) ที่เป็นภัยคุกคามที่มีโอกาสเกิดขึ้นกับกิจการ และกระทบต่อชื่อเสียงของกิจการ และแจกแจงรายการที่เป็นภัยคุกคามตาม

  • กลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้อง
  • ตัวขับเคลื่อนความเสี่ยงด้านชื่อเสียง
  • ความสัมพันธ์ระหว่างรายการภัยคุกคามที่มีผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเกี่ยวข้อง ที่มีส่วนทำให้ขนาดของความเสี่ยงรุนแรงขึ้นจนเกินกว่าระดับที่ยอมรับได้

ประการที่ 6

หลังจากได้ข้อมูลพื้นฐาน (baseline)แล้ว กิจการก็ควรจะนำเอาแต่ละรายการภัยคุกคามที่เป็นความเสี่ยงมาวิเคราะห์ช่องว่างหรือความเพียงพอของศักยภาพในการรับมือ หรือการบริหารจัดการของกิจการ

การวิเคราะห์ช่องว่างดังกล่าวจะทำให้พบว่า มีช่องว่างบางประเด็นที่กิจการต้องดำเนินการปรับปรุงกลยุทธ์โดยเร่งด่วน เพื่อมิให้เกิดเหตุการณ์ความเสี่ยงด้านชื่อเสียงที่เกินกว่าระดับที่ยอมรับได้อีก

ประการที่ 7

แนวทางการจัดการที่เป็นการตอบโต้ต่อความเสี่ยงด้านชื่อเสียงที่เกินกว่าระดับที่ยอมรับได้ต้องมีความชัดเจน ซึ่งโดยทั่วไปอาจจะแบ่งออกเป็น

  • การสร้างความตื่นตัวในความเสี่ยงที่เกิดใหม่ที่มีโอกาสจะเกิดขึ้นในอนาคต ทั้งด้วยการใช้ IT Governance หรือไอทีภิบาล และการเฝ้าระวังข้อบ่งชี้โดยบุคลากรที่เกี่ยวข้อง
  • การนำส่งข้อมูลด้วยระบบออนไลน์และด้วยสถานะล่าสุดที่เป็นปัจจุบัน(Real Time)
  • การนำเสนอรายงานถึงผู้บริหารเป็นรายเดือนเกี่ยวกับสถานะความเสี่ยงล่าสุด และแนวโน้มความเสี่ยงในอนาคต รวมทั้งประเด็นที่ควรระมัดระวังเพิ่มเติม

ประการที่ 8

แต่ละกิจการมีแนวโน้มที่จะเผชิญหน้ากับความเสี่ยงด้านชื่อเสียงแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับรูปแบบของการดำเนินงาน

ตัวอย่างเช่น กิจการที่ให้บริการสายการบิน อาจจะมีแนวโน้มที่จะเผชิญหน้ากับความเสี่ยงด้านชื่อเสียงตามจำนวนเที่ยวบินที่ให้บริการ

ในแนวคิดสมัยใหม่ นอกจากการพิจารณาความเสี่ยงจะใช้มิติของความน่าจะเป็นหรือโอกาส (Opportunity) และมิติของ ระดับความรุนแรงของผลกระทบ (Impact) แล้วกิจการอาจจะเพิ่มมิติของระบบการให้บริการ (Velocity) อีกมิติหนึ่ง เป็นเรื่องความเร็วของรอบการให้บริการ เป็นรายนาที รายชั่วโมง หรือรายวัน โอกาสในการเกิดข้อร้องเรียนก็จะเร็วช้าแตกต่างกันตามไปด้วย

ประการที่ 9

แต่เดิมกิจการมีความเชื่อว่า ความเสี่ยงด้านชื่อเสียงเป็นผลที่ไม่พึงประสงค์ที่เกิดจากกระบวนการปฏิบัติงานตามปกติของกิจการเท่านั้น หากไม่เกิดการปฏิบัติงานที่ไม่เหมาะสม ก็จะไม่มีโอกาสเกิดความเสี่ยงด้านชื่อเสียง

แต่ในสภาพแวดล้อมที่โลกอยู่บนโลกสื่อสังคมออนไลน์ เมื่อเกิดประเด็นที่เป็นความเสี่ยงด้านชื่อเสียงขึ้นในภาพรวม ก็มีโอกาสจะส่งผลกระทบต่อการดำเนินงาน และต่อความเสี่ยงทางการเงินได้

ดังนั้นกิจการจึงต้องให้ความระมัดระวังและเฝ้าจับตาทั้งกรณีของการปฏิบัติงานแต่ละด้านของกิจการ และประเด็นของความเสี่ยงด้านชื่อเสียงโดยรวมในระดับองค์กรด้วย

ประการที่ 10

ความเสี่ยงด้านชื่อเสียง เป็นความเสี่ยงที่ไม่อาจจะใช้วิธีการ “ควบคุม” ได้ แต่อาจจะต้องใช้วิธีการบริหารจัดการด้วยการเตรียมพร้อมต่อสถานการณ์วิกฤติจากความเสี่ยงด้านชื่อเสียงไว้ให้พร้อมตลอดเวลา โดย

  • ความเสี่ยงด้านชื่อเสียงที่พอยอมรับได้ มีหรือไม่
  • ความเสี่ยงด้านชื่อเสียงรูปแบบใดที่อยู่ในกลุ่มที่มีผลกระทบสูงสุด
  • มีมาตรการ กระบวนการอย่างไรที่ต้องเตรียมการไว้ และดำเนินการเพื่อตรวจจับว่าความเสี่ยงด้านชื่อเสียงเพิ่มขึ้นหรือไม่
  • การจัดการต้องสามารถบรรเทาผลกระทบที่จะเกิดขึ้นอย่างได้ผล

ประการที 11

การกำหนดผู้รับผิดชอบความเสี่ยงด้านชื่อเสียงหรือเจ้าภาพความเสี่ยง อาจจะมีความแตกต่างกันในแต่ละกิจการ โดยแบ่งเป็น

  • ผู้รับผิดชอบในการวิเคราะห์ ประเมินและสอดส่องติดตามความเสี่ยงด้านชื่อเสียง
  • ผู้รับผิดชอบตัดสินใจว่าความเสี่ยงด้านชื่อเสียงที่เพิ่มขึ้นเป็นสถานการณ์วิกฤติของกิจการ
  • ผู้รับผิดชอบแต่ละกรณี ไม่ควรอยู่ที่บุคคลเดียว เพราะอาจจะไม่รอบคอบเพียงพอ

ประการที่ 12

จุดอ่อนที่สำคัญของการบริหารความเสี่ยงด้านชื่อเสียงที่ยังคงมีอยู่ในปัจจุบัน

  • การประเมินความสำคัญต่ำเกินไปในส่วนของบุคลากรที่ควรจะต้องมีศักยภาพ ความพร้อมและความสามารถในการจัดการกับความเสี่ยงด้านชื่อเสียง

จึงทำให้กิจการไม่ได้พัฒนาบุคลากรให้เกิดความเข้าใจในการปฏิบัติหรือพฤติกรรมพึงประสงค์ในการบริหารจัดการความเสี่ยง

  • การใช้ประโยชน์จากบุคลากรไม่เต็มที่ โดยเฉพาะในการเซนเซอร์ประเด็นที่อาจจะบ่งชี้ความเสี่ยงด้านชื่อเสียง จึงทำให้ข้อมูลความเสี่ยงด้านชื่อเสียงที่มีอยู่ไม่ครบถ้วนสมบูรณ์

สนใจเชิญบรรยายหัวข้อนี้ติดต่อ sumetheeprasit@hotmail.com

 

มีนาคม 30, 2017 Posted by | ไม่มีหมวดหมู่ | ใส่ความเห็น

Stress Testing กรอบแนวทางที่ดีตาม Basel ของ BIS (ตอนที่ 2) เรื่อง 873

อาจารย์ จิรพร  สุเมธีประสิทธิ์

sumetheeprasit@hotmail.com

https://chirapon.wordpress.com

ด้วยความที่การทดสอบ Stress Testing ของสถาบันการเงินมักจะใช้ Scenario ที่ไม่ใช่สภาวการณ์เลวร้ายที่สุด และยังคงยึดติดกับประสบการณ์ในอดีตเป็นหลัก สถาบันการเงินจึงยังคงมีความเสี่ยงด้านเครดิต ความเสี่ยงด้านตลาด และความเสี่ยงด้านการเงินอยู่ในเกณฑ์สูง แม้ว่าจะทดสอบด้วย Stress Testing แล้วก็ตาม  เพราะ

  • ไม่ได้สร้างการรับรู้ความเสี่ยงที่เป็นสถานะที่แท้จริงในสถานการณ์วิกฤติ
  • ไม่ยอมรับรู้ความเสี่ยงเกิดใหม่ที่พัฒนาขึ้นมาตามนวัตกรรมทางการเงินและผลิตภัณฑ์ทางการเงิน

ในระยะหลังๆ สถาบันการเงินได้เพิ่มการพิจารณาปรับปรุงการทดสอบด้วย Stress Testing โดยเฉพาะในประเด็นที่สำคัญเกี่ยวกับ

  • การทบทวน Scenario และคำนึงถึงสถานการณ์วิกฤติใหม่ๆ อย่างสม่ำเสมอ
  • เพิ่มกิจกรรมการทดสอบผลิตภัณฑ์ใหม่ๆเพื่อค้นหาว่ามีความเสี่ยงเกิดขึ้นใหม่หรือไม่
  • ปรับปรุงการระบุและการรวบรวมประเด็นที่เป็นความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องและสัมพันธ์ซึ่งกันและกันของรายการต่างๆในงบการเงินอย่างครอบคลุม รวมถึงความสัมพันธ์กันของบรรดาความเสี่ยงประเภทต่างๆระหว่างความเสี่ยงด้านตลาด ความเสี่ยงด้านเครดิต และความเสี่ยงด้านสภาพคล่อง
  • ประเมินว่าควรจะประมาณการความเหมาะสมของระยะเวลาที่ควรจะประเมินผลกระทบของความสูญเสียและความเสียหาย

ทั้งนี้การทดสอบ Stress Testing ในขอบเขตอย่างกว้างได้กลายเป็นประเด็นที่สถาบันการเงินหลายแห่งตระหนักว่า ธนาคารจำเป็นต้องดำเนินการปรับปรุงกระบวนการเพื่อให้มั่นใจว่า จะสามารถตรวจจับความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องได้อย่างเหมาะสม และสามารถประมวลข้อมูลความเสี่ยงข้ามสายธุรกิจ

นอกจากนั้น การทำ Stress Testing ที่เรียกว่า “ad hoc” ได้ถูกหยิบยกขึ้นมาใช้ในฐานะเครื่องมือสำคัญในการนำเสนอข้อมูลความเสียหายต่อผู้บริหารระดับสูงเพื่อประกอบการตัดสินใจในการบริหารวิกฤติ โดยเป็นการดำเนินการในช่วงสั้นๆเพื่อให้ทันกับสถานการณ์ทางการตลาดที่มีการเปลี่ยนแปลง

ข้อเสนอแนะของ Basel Committee ในเรื่อง Stress Testing มาจากการนำเอาประเด็นที่ยังเป็นจุดอ่อนและข้อบกพร่องของวิธีปฏิบัติเกี่ยวกับ Stress Testing มากำหนดเป็นแนวทางพึงปฏิบัติที่ดีโดยมีประเด็นที่สำคัญ สรุปได้ดังนี้

ประการที่ 1

แนวทางการนำ Stress Testing มาใช้และการบูรณาการการกำกับดูแลกิจการบนฐานความเสี่ยง

Stress Testing ควรจะจัดทำให้เกิดการบูรณาการเป็นส่วนหนึ่งของการกำกับดูแลกิจการโดยระบุ และทำให้เป็นวัฒนธรรมการบริหารความเสี่ยงของธนาคาร

การที่เป็นเช่นนี้ได้ Stress Testing จะต้องได้รับความสำคัญ มีการนำผลการประมาณการความเสียหาย ที่ได้จากการวิเคราะห์ Stress Testing ประกอบในการตัดสินใจในระดับกลยุทธ์อย่างเหมาะสม

การดำเนินงาน Stress Testing จึงต้องมีคณะกรรมการธนาคารและผู้บริหารระดับสูงเข้ามาเกี่ยวข้องอย่างเพียงพอและตั้งแต่เริ่มแรก

ประการที่ 2

ธนาคารควรจัดทำโปรแกรมการทดสอบภาวะวิกฤตด้วย Stress Testing ที่ส่งเสริมการระบุและการควบคุมความเสี่ยง สนับสนุนการใช้เครื่องมือการบริหารความเสี่ยงอย่างอื่นๆให้เหมาะสม  ช่วยในการปรับปรุงการบริหารเงินกองทุนและบริหารสภาพคล่อง และกระตุ้นให้เกิดความเข้าใจในการสื่อสารความเสี่ยงจากภาวะวิกฤติที่ทดสอบผ่าน Stress Testing

  • Stress Testing ควรจะรวมไว้ในกิจกรรมการบริหารความเสี่ยงหลายระดับเพื่อส่งเสริมการระบุและควบคุมความเสี่ยง ทั้งระดับฝ่ายงาน สายธุรกิจ พอร์ตสินเชื่อและการปรับปรุงกลยุทธ์ทางธุรกิจของธนาคาร
  • ผลลัพธ์ที่ได้จากการประมาณการความสูญเสียควรจะออกผลมาอย่างเป็นอิสระและใช้เทียบเคียงกับผลลัพธ์จากเครื่องมืออื่น เช่น VaR และเงินทุนทางเศรษฐศาสตร์

ประการที่ 3

โปรแกรมทดสอบด้วย Stress Testing ควรจะพิจารณาจากมุมมองของความเสี่ยงทั่วทั่งองค์กร และสายธุรกิจต่างๆ และด้วยเทคนิคที่หลากหลายไม่ว่าจะเป็นการระบุสถานการณ์ที่เป็นภาวะวิกฤติ และการใช้ประโยชน์จากผลของการทดสอบด้วย Stress Testing จำเป็นต้องอาศัยการร่วมมือและประสานงานกันระหว่างผู้เชี่ยวชาญระดับสูงภายในธนาคารอย่างกว้างขวาง โดยผู้เชี่ยวชาญแต่ละด้านจะมีส่วนให้ความเห็นที่เป็นประโยชน์ในการประมาณการความสูญเสียที่จะเกิดกับธนาคารจากสภาวะวิกฤติแต่ละสถานการณ์

ประการที่ 4

สถาบันการเงินจะต้องมีนโยบายและขั้นตอนการปฏิบัติงานเป็นลายลักษณ์อักษรเพื่อช่วยกำกับโปรแกรมการทดสอบด้วย Stress Testing และทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้องสามารถร่างรายละเอียดของการดำเนินงานได้อย่างชัดเจน โดยเฉพาะในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับ

  • รูปแบบของ Stress Testing และจุดประสงค์ประสงค์หลักขององค์ประกอบในแต่ละโปรแกรมของการทดสอบด้วย Stress Testing
  • วิธีการที่เลือกใช้ในส่วนของรายละเอียด รวมทั้งวิธีการกำหนดScenario และเลือกใช้ Scenario ที่เหมาะสม และบทบาทของการให้ความเห็นของผู้เชี่ยวชาญ
  • กิจกรรมหลักที่จำเป็นเพื่อให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ รูปแบบ และผลลัพธ์ที่ได้จากการทดสอบด้วย Stress Testing

ประการที่ 5

สถาบันการเงินควรจะมีโครงสร้างพื้นฐานที่เหมาะสม และเพียงพอที่จะทำให้เกิดความยืดหยุ่นในการพลิกแพลงการทดสอบด้วย Stress Testing ให้หลากหลายได้ตามความจำเป็น

ประการที่ 6

สถาบันการเงินควรจะธำรงรักษา และทำการปรับปรุงเพื่อยกระดับกรอบแนวทางการทดสอบด้วย Stress Testing อย่างสม่ำเสมอและเป็นระยะๆ เพื่อประสิทธิภาพของการดำเนินโปรแกรมการทดสอบด้วย Stress Testing

ประการที่ 7

ส่วนของวิธีการที่เลือกใช้และการกำหนด Scenario ที่เหมาะสม

การทดสอบด้วย Stress Testing ควรครอบคลุมประเด็นความเสี่ยงและรูปแบบของธุรกิจที่มีอยู่ในธนาคารในระดับองค์กร และทำให้เป็นรูปแบบของบูรณาการ เพื่อให้เป็นภาพรวมที่ครบถ้วนทั้งกิจการ โดยเฉพาะผลกระทบต่อ

  • มูลค่าของสินทรัพย์
  • ผลกำไรและขาดทุนทางบัญชี
  • ผลกำไรและขาดทุนทางเศรษฐศาสตร์
  • เงินกองทุน หรือสินทรัพย์ตามน้ำหนักของความเสี่ยง
  • ความเพียงพอของเงินทุนทางเศรษฐศาสตร์
  • ช่องว่างด้านสภาพคล่องและการระดมทุน

ประการที่ 8

โปรแกรมทดสอบด้วย Stress Testing ควรจะครอบคลุม Scenario ที่หลากหลายและเพียงพอตามความจำเป็น โดยเฉพาะ

  • การพัฒนา Scenario ที่เป็นการมองไปข้างหน้า
  • การเชื่อมโยง Scenario ให้สัมพันธ์กันอย่างครบถ้วน

ประการที่ 9

Stress Testing ควรจะปรับไปในทางที่ประเมินผลความเสียหายของสถานการณ์ที่เหมาะสมโดยเป็นความเสียหายขนาดใหญ่ รวมถึงความเสียหายด้านชื่อเสียงของกิจการด้วย

Scenarioควรจะเป็นสถานการณ์ที่ท้าทายต่อความมั่นคงของธนาคารและเป็นความเสี่ยงที่หลบซ่อนอยู่ รวมทั้งผลรวมที่มาจากความสัมพันธ์กันระหว่างความเสี่ยงในแต่ละ Scenario

ประการที่ 10

ธนาคารควรจะพิจารณาผลกระทบด้านแรงกดดันในการระดมทุนและตลาดสินทรัพย์ และผลกระทบของการลดลงในสภาพคล่องของตลาดเป็นส่วนหนึ่งของโปรแกรมการทดสอบด้าน Stress Testing

ประการที่ 11

ประเด็นที่ควรจะได้รับความสนใจจากการทดสอบภาวะวิกฤติ คือการบรรเทาความเสี่ยงและการถ่ายโอนความเสี่ยงที่เป็นบทเรียน ซึ่ง Basel Committee เรียนรู้มาจากวิกฤติการณ์ทางการเงิน ซึ่งสถาบันการเงินจะต้องตอบโต้ต่อความท้าทายในส่วนของการหาแนวทางบรรเทาความสี่ยงให้เพียงพอ

ประการที่ 12

การพิจารณาเทคนิคการถ่ายโอนความเสี่ยงควรจะคำนึงถึงผลิตภัณฑ์ทางการเงินใหม่ๆ อย่างเช่น Securitization และสินทรัพย์ที่เกี่ยวข้อง (Underlying Asset) และปัจจัยความเสี่ยงเชิงระบบที่กระทบต่อพอร์ตสินเชื่อของธนาคารในวงกว้าง

ประการที่ 13

โปรแกรมการทดสอบด้วย Stress Testing ควรจะครอบคลุมความเสี่ยงด้าน Warehousing ด้วย

ประการที่ 14

สถาบันการเงินควรจะส่งเสริมวิธีการทดสอบ Stress Testing ที่ตรวจจับหาความเสี่ยงด้านชื่อเสียงของกิจการ และความเสี่ยงของรายการที่ปรากฏนอกงบการเงินและความเสี่ยงที่อาจจะมาจากกิจการอื่นที่เกี่ยวข้องกันด้วย

ประการที่ 15

สถาบันการเงินควรจะส่งเสริมแนวคิดการทดสอบ Stress Testing ที่เจาะจงลงไปในประเด็นความเสี่ยงเฉพาะเจาะจงที่เกิดขึ้นตามสถานการณ์ รวมทั้งความเสี่ยงจากการใช้เทคนิคการบรรเทาความเสี่ยงไปในทิศทางที่ผิดพลาดด้วย

 

สนใจเชิญบรรยายหัวข้อนี้ติดต่อ sumetheeprasit@hotmail.com

 

มีนาคม 27, 2017 Posted by | ไม่มีหมวดหมู่ | ใส่ความเห็น

Stress Testing เหตุผลและความจำเป็นเพื่อประเมินความเสี่ยงเชิงป้องกัน- เรื่องที่ 837

อาจารย์จิรพร สุเมธีประสิทธิ์

sumetheeprasit@hotmail.com

https://chirapon.wordpress.com

Stress Testing เป็นเครื่องมือที่นับวันจะมีความสำคัญมากขึ้นในการบรรเทาความเสี่ยงด้านเครดิตจากการให้สินเชื่อ ที่เน้นการมองภาพและพยากรณ์ความเสียหายที่มีโอกาสจะเกิดกับสถาบันการเงินในอนาคต ซึ่งเกินกว่าการรับรู้ผลการประเมินความเสี่ยงในปัจจุบัน เพื่อนำไปสู่การบริหารความเสี่ยงเชิงป้องกันและเตรียมรับมือล่วงหน้า

Stress Testing จึงเป็นการทดสอบภาวะวิกฤติที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต จากการที่มีสัญญาณบางอย่างชี้ว่า สถานการณ์บางอย่างอาจจะเลวลงในอนาคตและอาจจะส่งผลกระทบต่อคุณภาพหนี้ของลูกค้าบางส่วนในพอร์ตสินเชื่อ สถาบันการเงินจึงอยากจะรู้ล่วงหน้าว่า ลูกค้าส่วนใหญ่ที่มีคุณภาพหนี้เลวลงจนส่งผลต่อ

  • โครงสร้างหนี้และคุณภาพของพอร์ตสินเชื่อที่มีฐานะเลวลง
  • ความสามารถเรียกเก็บหนี้จากสินเชื่อที่อยู่ในพอร์ตและผลกระทบต่อสภาพคล่อง กำไร
  • ความจำเป็นในการที่สถาบันการเงินจะต้องดำรงเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงเพิ่มขึ้น
  • การคัดแยกลูกหนี้ที่คาดว่าจะมีคุณภาพด้อยลง มาเป็นกลุ่มที่ต้องดูแลเป็นพิเศษก่อนที่จะมีคุณภาพแย่ลงจนสร้างความเสียหาย หรือบรรเทาความเสี่ยงให้ผ่อนหนักเป็นเบา
  • ขนาดของปัญญาหาหนักหนาและรุนแรงจนกระทั่งสถาบันการเงินไม่อาจจะรับมือหรือบริหารจัดการได้หรือไม่

อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการทำ Stress Testing ทำให้สถาบันการเงินปรับสถานการณ์ในการทดสอบภาวะวิกฤติได้อย่างเป็นอิสระ ขึ้นอยู่กับ

  • สมมุติฐานที่ตั้งใน Scenario เพื่อนำมาทดสอบภาวะวิกฤติ
  • การกำหนดรูปแบบและวิธีการในการรับมือกับปัญหา
  • ความสามารถในการปรับเพิ่มเงินกองทุนโดยรวมเพื่อรองรับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น

ด้วยเหตุนี้ Stress Testing จึงไม่ได้จำกัดอยู่กับการวิเคราะห์เฉพาะเรื่องใดเรื่องหนึ่ง หากแต่ยังต้องอาศัยเครื่องมือสนับสนุนและข้อมูลจากฐานข้อมูลที่นำมาใช้ประกอบก่อนที่สถาบันการเงินจะเริ่มงานการวิเคราะห์และประเมินความเสี่ยงผ่าน Stress Testing ได้

นอกจากนั้น Stress Testing ไม่ใช่กระบวนการที่เสร็จสิ้นในตัวเอง หากแต่เป็นส่วนเดียวของกระบวนการหลักของการบริหารความเสี่ยงด้านเครดิตทั้งหมดของสถาบันการเงิน เพียงแต่เป็นส่วนที่ต่อยอดจาการบริหารความเสี่ยงขั้นพื้นฐานและในภาวะปกติ สู่การบริหารความเสี่ยงเพื่อหลีกเลี่ยงภาวะวิกฤติ

ประเด็นอื่นๆที่สำคัญเกี่ยวกับการพัฒนากระบวนการ Stress Testing เพื่อทดสอบภาวะวิกฤติของพอร์ตสินเชื่อ ได้แก่

ประการที่ 1 Stress Testing เป็นเครื่องมือ

ที่หน่วยงานภาครัฐและนาคารกลางที่กำกับดูแลการดำเนินงานของสถาบันการเงินกำหนดเป็นเกณฑ์ในการประเมินความแข็งแกร่งของสถาบันการเงิน อันเนื่องมาจากการประเมินว่า กระบวนการบริหารความเสี่ยงตามภาวะปกติไม่เพียงพอ หากเกิดเหตุการณ์ความเสี่ยงเหนือความคาดหมายของสถาบันการเงินและรับรู้ความเสี่ยงที่แตกต่างกันของสถาบันการเงินแต่ละแห่ง จนอาจจะทำให้การรับรู้ความเสี่ยงของสถาบันการเงินอื่นต่ำเกินไปจนไม่อาจเห็นความเสี่ยงได้จากรายงานผลการดำเนินงานบริหารความเสี่ยงตามปกติ

ประการที่ 2 Stress Testing เป็นกระบวนการ

ที่ต้องดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่โครงการที่ทำเพียงชั่วครั้งชั่วคราว และเป็นกระบวนการที่นำมาสู่กิจกรรมการควบคุมตามมาอย่างเหมาะสม

ก่อนการทำ Stress Testing สถาบันการเงินควรจะมีกำหนดเพดานความเสี่ยงหรือสถานะความเสี่ยงสูงสุด(Limits of Exposures) ไว้ก่อนอย่างพอเพียง เพื่อที่ได้นำผลลัพธ์ที่ได้จากการทำ Stress Testing มาประเมินได้ว่า สถานะความเสี่ยงในภาวะวิกฤติเพิ่มกว่าระดับที่สถาบันการเงินยอมรับได้หรือไม่

หากผลลัพธ์จาก Stress Testing เกินกว่าเพดานสูงสุดที่เป็นไปได้ สถาบันการเงินนั้นต้องพิจารณาว่าจะปรับปรุงพอร์ตสินเชื่ออย่างไร

ประการที่ 3 นอกจากการทดสอบสถานการณ์วิกฤติต่างๆ แล้ว

Stress Testing ยังใช้เป็นส่วนหนึ่งของการบริหารอัตราดอกเบี้ยให้กู้ยืมที่เหมาะสมกับความเสี่ยง และนำเอาต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจากการดำรงเงินกองทุนเพิ่มเติมมาพิจารณาเป็นต้นทุนของการบริหารสินเชื่อให้ครบถ้วน

ประการที่ 4 Stress Testing สามารถใช้เป็นเครื่องมือที่ดี

สำหรับผู้บริหารงานด้านสินเชื่อที่มีความกังวลต่อสถานะความเสี่ยงของพอร์ตสินเชื่อบางส่วน หรือการที่สถาบันการเงินมีการกระจุกตัวของสินเชื่อบางลักษณะมากขึ้น จนต้องการทดสอบว่า ในอนาคตจะมีผลต่อสถานะทางการเงินและความมั่นคงทางการเงินมากน้อยพียงใด หรือสถาบันการเงินกำลังพิจารณาว่า หากจะปรับอัตราดอกเบี้ย หรือมีลูกค้าสินเชื่อกลุ่มใดที่มีความไหวตัวของการดำเนินธุรกิจต่อการปรับเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันในฐานะที่เป็นต้นทุนของการดำเนินงาน และผลกระทบต่อสถาบันการเงินอย่างไร

ประการที่ 5 ผลที่ได้จากการทำ Stress Testing

เป็นส่วนสำคัญที่ใช้ประกอบการทำแผนสำรองเผื่อฉุกเฉิน (Contingency Plan) ด้วยการรวบรวมว่ามีอะไรที่อาจจะมีโอกาสเกิดขึ้นบ้าง ตามเงื่อนไขใน Stress Testing ที่สถาบันดำเนินการและแนวทางการควบคุมความเสียหายทำได้อย่างไรบ้าง และยังใช้สร้างความคุ้นเคยที่ช่วยสถาบันการเงินในการจัดการกับสถานการณ์อื่นๆได้เพิ่มขึ้นได้ เพราะอาจจะมีลักษณะร่วมบางอย่างที่ทำให้การประเมินความเสี่ยงได้ชัดเจนขึ้นกว่าก่อนทำ Stress Testing

ประการที่ 6 ลักษณะ Stress Testing ที่นิยมทำกันในสถาบันการเงิน

คือการทดสอบความไหวตัว

  • รายประเภทธุรกิจ หรือรายอุตสาหกรรม เช่นหากอุตสาหกรรมขนส่งแย่ลงจะเกิดอะไรบ้าง
  • รายพื้นที่ภูมิศาสตร์ ในบางพื้นที่อาจจะเป็นพื้นที่เสี่ยงที่เกิดใหม่
  • การลดลงของเกรด(Down grade)ของลูกค้าในพอร์ตสินเชื่อทุกราย 1 ระดับจะมีผลต่อความเสี่ยงอย่างไร

ในการทำ Stress Testing แบบนี้จะกำหนดสมมุติฐานว่าสถานการณ์ดังกล่าวมีผลทำให้การผิดนัดชำระหนี้ของส่วนนั้น (ประเภทธุรกิจหรืออุตสาหกรรม หรือเฉพาะพื้นที่เชิงภูมิศาสตร์) เพิ่มขึ้น

นอกจากประเด็นที่ใช้องค์ประกอบของลูกค้าในพอร์ตสินเชื่อเป็นจุดตั้งต้นในการทำ Stress Testing เพื่อหาภาวะวิกฤติแล้ว ลักษณะ Stress Testing อีกลักษณะหนึ่งที่นิยมกันมากก็คือการนำเอาปัจจัยที่เป็นตัวแปรทางเศรษฐกิจมหภาคมาทดสอบ เช่น

  • การเพิ่มขึ้นของราคาพลังงาน
  • การเพิ่มขึ้นของอัตราการว่างงาน การปิดกิจการ
  • การเพิ่มขึ้นของราคาบ้าน
  • การเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ย

โดยสถาบันการเงินจะนำเอาปัจจัยที่เป็นตัวแปรทางเศรษฐกิจมหภาคมาเชื่อมโยงลูกค้าในพอร์ตสินเชื่อว่าควรจะทดสอบลูกค้ากลุ่มใดบ้าง

ประการที่ 7 Stress Testing อาจจะใช้ประเมินตัวสถาบันการเงินเองโดยตรง

ว่ามีความไหวตัวต่อการเปลี่ยนแปลงของพารามิเตอร์บางอย่างหรือไม่ เช่น

  • กลุ่มหนี้ที่มีราคาประเมินหลักประกันลดลง
  • กลุ่มหนี้ที่อัตราดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมเป็นแบบลอยตัว (MLR : Minimum Lending Rate) และปรับลดลงจนมีผลต่อรายได้ของสถาบันการเงิน

 

สนใจเชิญบรรยายหัวข้อนี้ติดต่อ sumetheeprasit@hotmail.com

 

 

มีนาคม 11, 2017 Posted by | ไม่มีหมวดหมู่ | ใส่ความเห็น

หลักสูตร การบริหารความเสี่ยงด้านการกำกับการปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ (Compliance Risk Management) รุ่นที่ 1 อ.จิรพร สุเมธีประสิทธิ์

ปฏิทินการฝึกอบรมประจำปีงบประมาณ 2560
สำหรับบุคคลทั่วไป (Public Training)
จัดโดย สำนักสิริพัฒนา สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์

23-24 มีนาคม 2560

หลักสูตร การบริหารความเสี่ยงด้านการกำกับการปฏิบัติตามกฎเกณฑ์

(Compliance Risk Management) รุ่นที่ 1

อ.จิรพร สุเมธีประสิทธิ์

ค่าใช้จ่าย 5,800.-บาท

มีนาคม 11, 2017 Posted by | ไม่มีหมวดหมู่ | ใส่ความเห็น