Risk Management Forum

ศูนย์ข้อมูลความรู้เกี่ยวกับ การบริหารจัดการความเสี่ยง ควบคุมภายใน ตรวจสอบ Compliance

การบริหารความเสี่ยงด้านการวางแผนกลยุทธ์ – เรื่องที่ 821

อาจารย์ จิรพร สุเมธีประสิทธิ์

sumetheeprasit@hotmail.com

https://chirapon.wordpress.com

IMG_0214

กิจการทุกกิจการมีความจำเป็นและความต้องการที่จะค้นหาแนวคิดเชิงกลยุทธ์ที่ใช้เป็นทิศทางในอนาคต และสร้างอนาคตที่ดี ที่มีการเติบโต และสามารถนำไปใช้ดำเนินการได้จริงในภาคปฏิบัติ

ในกิจการที่มีขนาดใหญ่ มักจะค่อนข้างมั่นใจและกล้าที่จะวางแนวคิดเชิงกลยุทธ์ในระยะยาวเพราะมีความเชื่อมั่นในวิสัยทัศน์ของผู้นำของตน

แต่ความสามารถเฉพาะตัวและวิสัยทัศน์ของผู้นำเพียงอย่างเดียวอาจจะไม่เพียงพอเพราะสภาพแวดล้อมอาจจะเกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ขณะที่ตัวแปรที่เป็นความไม่แน่นอนยังคงมีอยู่อีกมากมาย ที่ไม่อาจจะชี้ชัดและฟันธงได้อย่างชัดเจน ซึ่งอาจจะเรียกโดยรวมว่าสิ่งที่เป็นตัวขับเคลื่อนความเสี่ยง

ตัวขับเคลื่อนความเสี่ยงนี้มีความสำคัญอย่างมากเพราะอาจจะทำให้กิจการขนาดใหญ่ตกอยู่ท่ามกลางปัญหาและความล้มเหลวของการดำเนินงานกิจการมาแล้ว หากไม่สามารถบริหารความเสี่ยงด้านการวางแผนกลยุทธ์อย่างเหมาะสมและเพียงพอ ก็จะเหมือนเรือที่แล่นผิดทิศผิดทาง จนไม่สามารถควบคุมการดำเนินงานหรือไม่สามารถเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นต่อไปได้ มีแต่เรื่องนอกเหนือความคาดหมายอย่างมากมาย จนไม่อาจยอมรับได้

ประเด็นที่กิจการมีความจำเป็นต้องคำนึงถึงในการนำแนวทางและกระบวนการบริหารความเสี่ยงมาใช้ในการวางแผนกลยุทธ์ในอนาคตของกิจการ ได้แก่

ประการที่ 1 การวางแผนกลยุทธ์

เป็นกระบวนการตัดสินใจเกี่ยวกับวัตถุประสงค์ของกิจการ การเปลี่ยนแปลงวัตถุประสงค์ การจัดสรรทรัพยากรที่ต้องใช้รองรับการดำเนินการให้บรรลุวัตถุประสงค์และนโยบายที่จะกำกับการได้มาซึ่งทรัพยากรการใช้ทรัพยากรในกิจการ

การวางแผนกลยุทธ์จึงเป็นการตัดสินใจเกี่ยวกับความเสี่ยงที่จะยอมรับให้เกิดขึ้น ซึ่งต้องดำเนินการอย่าง

(ก) เป็นกระบวนการ

(ข) เป็นระบบและ

(ค) ด้วยองค์ความรู้เกี่ยวกับความเปลี่ยนแปลงและความไม่แน่นอนในอนาคต

ในวงจรของการวางแผนกลยุทธ์จะไปสิ้นสุดที่การวางกลยุทธ์ชี้ให้เกิดการดำเนินงานไปตามสิ่งที่ได้ตัดสินใจไว้ พร้อมทั้งทำการวัดผลที่เกิดขึ้นจริงจากการตัดสินใจเทียบกับที่คาดหมายหรือตั้งเป้าหมายไว้

แล้วนำเอาข้อมูลป้อนกลับไปเป็นบทเรียนเพื่อปรับปรุงกระบวนการตัดสินใจต่อไป

ประการที่ 2 ความมั่นใจในการวางแผนกลยุทธ์

มาจากการรับรู้ความเสี่ยงรอบด้านอย่างเพียงพอ

ความเสี่ยงรอบด้านหลักๆมาจากภายใน 2 ประเด็นและมาจากภายนอก 2 ประเด็นคือ

  • ความเสี่ยงจากภายในประกอบด้วย
    • จุดอ่อนและจุดแข็ง โดยเฉพาะจุดอ่อนที่ยอมรับให้คงอยู่ต่อไปไม่ได้
    • สมรรถนะของบุคลากรหลักของกิจการที่เป็นคุณค่า(Value) ในการดำเนินกลยุทธ์ไม่เพียงพอหรือไม่เหมาะสม
  • ความเสี่ยงจากภายนอก ประกอบด้วย

(2.1)  โอกาสและภัยคุกคาม โดยเฉพาะภัยคุกคามในด้านต่างๆที่จะเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินงาน

(2.2)  ความคาดหวังของสังคมที่แตกต่างไปจากสถานะที่เป็นจริงของกิจการ และมีความหลากหลายของความคาดหวังจนอาจจะขัดแย้งกันเอง ไม่ลงรอยกัน

ประการที่ 3

ความเสี่ยงจากภายในที่อาจจะเป็นจุดอ่อนหรือสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม ไม่อาจจะเอื้ออำนวยให้กิจการกล้าตัดสินใจเชิงรุก มักจะได้แก่

  • ความชัดเจนของวัตถุประสงค์ไม่เพียงพอ
  • หน่วยงานภายในกิจการแยกออกจากกันเป็นเอกเทศต่างคนต่างบริหารเฉพาะหน่วยงานของตนไม่คำนึงถึงองค์กร
  • หน้าที่ความรับผิดชอบของผู้บริหารหน่วยงานภายในกิจการไม่ชัดเจน
  • โครงสร้างองค์กรจัดวางและออกแบบไม่เหมาะสม
  • กระบวนการกำกับและควบคุมภาระงานไม่มีประสิทธิภาพ
  • ตัวขับเคลื่อนความเสี่ยงรายบุคคล เช่น การสื่อสารระหว่างกัน ความขัดแย้งด้านบุคลิกภาพ ไม่จงรักภักดี ไม่ซื่อสัตย์ สุจริต ไม่ยอมทำงานเป็นทีม ไม่ส่งเสริมสอนงานผู้ใต้บังคับบัญชา ไม่ยอมให้ประเมินผลการปฏิบัติงาน

ประการที่ 4 ความเสี่ยงในการวางแผนกลยุทธ์

อีกประการหนึ่งที่ไม่ค่อยมีการหยิบยกขึ้นมาพูดกันมากนักคือ Benchmarking

คือการวางแผนโดยไม่มีแบบแผน บรรทัดฐาน หรือไม่สามารถกำหนดได้ชัดเจนว่าจะใช้แบบแผน บรรทัดฐานใดเป็นตัวตนแบบ จะใช้ Balanced Scorecard หรือไม่ ควรประกันคุณภาพอย่างไร

ประการที่ 5 การวางแผนกลยุทธ์มีการดำเนินการอย่างผิดพลาด

จนเกิดความเสี่ยงโดยความผิดพลาดนั้น ได้แก่

  • ไม่ได้บูรณาการไว้ในระบบบริหารกิจการในองค์รวมจากการที่ยกร่างแผนกลยุทธ์ด้วยคนไม่กี่คน หรือตั้งคณะทำงานขึ้นมาดำเนินการในเวลาสั้นๆหรือจ้างที่ปรึกษาดำเนินการให้
  • ไม่มีความเข้าใจในมิติที่แตกต่างกันของการวางแผนว่าการวางแผนเป็นเรื่องของ

(2.1) การเรียนรู้แบบปรับตัวตาม

(2.2) การสื่อสารและซักซ้อมความเข้าใจ

(2.3) การสร้างทีมงานที่ต้องทำงานร่วมกัน

(2.4) การกำหนดระบบแรงจูงใจที่สอดคล้องสัมพันธ์กัน

  • ผู้ที่เกี่ยวข้องหรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในระดับต่างๆ ทั้งภายในและภายนอกกิจการไม่ได้มีส่วนร่วมเสนอกรอบแนวทางการวางแผนกิจกรรม
  • ใช้ตัวชี้วัดเชิงปริมาณแต่ไม่มีตัวชี้วัดเชิงคุณภาพเพื่อรับประกัน สร้างความมั่นใจว่าขั้นตอนจะเป็นไปตามที่ควรจะเป็น
  • คิดว่าแผนจะทำได้จริงเสมอ ไม่ยอมให้ปรับหรือเปลี่ยนตามสถานการณ์
  • กดดันให้ต้องพยายามให้ได้ภายในครั้งเดียว ไม่ค่อยเป็นค่อยไป
  • ไม่นำแผนที่วางไว้มาประกอบการอำนวยการสั่งการทำสิ่งที่แตกต่างจากแผน
  • แผนการบริหารเงินไม่สอดคล้องกับแผนภาระงาน
  • ทรัพยากรที่เกี่ยวข้องไม่เพียงพอ
  • มีรายละเอียดมากเกินไป จนไม่เห็นภาพในองค์รวม

กล่าวโดยสรุปจะพบว่าความเสี่ยงด้านกลยุทธ์คือ ความเสี่ยงที่เกิดขึ้นกับกิจการอันเนื่องมาจากการตัดสินใจทางธุรกิจที่ผิดพลาดหรือการถ่ายโอนหรือส่งต่อกลยุทธ์ที่มาจากการตัดสินใจด้วยวิธีการที่ไม่เหมาะสม และมักจะเป็นความเสี่ยงเริ่มต้นของความเสี่ยงอื่นๆ เช่นความเสี่ยงด้านปฏิบัติการ ความเสี่ยงทางการเงิน และมีโอกาสนำความเสียหาย ความสูญเสียมาสู่กิจการได้รุนแรงที่สุด

ความเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมการดำเนินกิจการที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว และกิจการมีความไม่แน่ชัดในสถานการณ์ทางธุรกิจ ทำให้ความเสี่ยงด้านกลยุทธ์กลายเป็นความเสี่ยงที่ท้าทายที่สุดของกิจการต่างๆ

กิจการจึงต้องทำให้มั่นใจว่า ได้มีการบริหารจัดการกับความเสี่ยงด้านกลยุทธ์อย่างเหมาะสม และทำให้บุคลากรทุกระดับในกิจการ พันธกิจทางธุรกิจ ผู้ให้บริการภายนอกเข้าใจในเรื่องนี้อย่างชัดเจนและเพียงพอ

 

สนใจเชิญบรรยายหัวข้อนี้ติดต่อ sumetheeprasit@hotmail.com

มิถุนายน 7, 2016 - Posted by | ไม่มีหมวดหมู่

ยังไม่มีความเห็น

ใส่ความเห็น