Risk Management Forum

ศูนย์ข้อมูลความรู้เกี่ยวกับ การบริหารจัดการความเสี่ยง ควบคุมภายใน ตรวจสอบ Compliance

ควบคุมภายใน COSO1992 สู่ COSO2013-บทเรียนความล้มเหลวในมุมมองผู้ประเมิน (ตอนที่ 1) -เรื่องที่ 581

 

 

อาจารย์ จิรพร  สุเมธีประสิทธิ์

sumetheeprasit@hotmail.com

https://chirapon.wordpress.com

1.a20.3.57.1

การควบคุมภายในเป็นส่วนหนึ่งของการกำกับดูแลกิจการที่ดี จึงเป็นประเด็นที่ผู้ทำหน้าที่กำกับการควบคุมภายในให้ความสำคัญและพยายามที่จะวางกรอบแนวทางในการพัฒนาระบบการควบคุมภายในให้เข้มแข็งเพียงพอที่จะรองรับการปฏิบัติงานในภาวะปกติและงานประจำวันอย่างเพียงพอและเหมาะสม หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ ระบบการควบคุมภายในเป็นองค์ประกอบสำคัญของการบริหารจัดการและเป็นพื้นฐานของความมั่นคงและความปลอดภัยของการดำเนินงานในระหว่างเวลาทำการด้วย

กิจการที่ใส่ใจกับการพัฒนาระบบการควบคุมภายในจะมีความเชื่อมั่นในระบบการควบคุมภายในที่แข็งแกร่งว่าจะมีส่วนเพิ่มความมั่นใจว่าการดำเนินงานจะบรรลุตามเป้าประสงค์และพันธกิจของกิจการรวมทั้งเป้าหมายมูลค่าเพิ่มของกิจการในระยะยาว รวมทั้งธำรงรักษาสถานะทางการเงินและความสามารถในการบริหารงบประมาณและการลงทุนที่คุ้มค่าได้ ควบคู่กับการกำกับการปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎเกณฑ์ด้วย ขณะเดียวกัน กิจการมีโอกาสที่จะหลีกเลี่ยงหรือป้องกันความเสียหายหรือความสูญเสียทางการเงินและไม่เป็นตัวเงินได้ผ่านระบบการควบคุมภายในที่ดีและมีประสิทธิภาพ

ในส่วนของผู้ที่ทำหน้าที่กำกับระบบการควบคุมภายในของกิจการ การพัฒนาระบบการควบคุมภายในอาจจะมาจากการแก้ไขบทเรียนที่เป็นความล้มเหลวของการควบคุมภายในในอดีตได้ส่วนหนึ่ง และนำมาปรับปรุงหลักการและกรอบแนวทางในระบบการควบคุมภายในของกิจการ

บทเรียนจากความล้มเหลวของระบบการควบคุมภายในที่เกิดขึ้นกับกิจการต่างๆที่อาจจะนำไปใช้เป็นหลักการร่วมกันของกิจการโดยทั่วไป ที่ควรจะได้รับความใส่ใจของงานกำกับระบบควบคุมภายในเพิ่มขึ้น ได้แก่

หลักการที่ 1 การบริหารงานควบคุมในภาพรวมและวัฒนธรรมการควบคุม

(1)  คณะกรรมการบริษัทรับผิดชอบในการให้ความเห็นชอบกลยุทธ์ทางธุรกิจ แผนดำเนินงานของกิจการ รวมทั้งกำหนดนโยบายการดำเนินงานของกิจการอยู่แล้ว ซึ่งในการพิจารณาข้อมูลเพื่อให้ความเห็นชอบดังกล่าว ควรจะทำความเข้าใจและสร้างการรับรู้เกี่ยวกับข้อมูลความเสี่ยงสำคัญที่อาจจะเกิดขึ้นจากการดำเนินงานของกิจการอย่างเพียงพอด้วย

(2)  คณะกรรมการบริษัทควรจะกำหนดระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ในระดับในระดับองค์กรโดยรวมอย่างชัดเจนและสื่อสารให้ผู้บริหารระดับสูงของกิจการรับทราบ

(3)  คณะกรรมการบริษัทควรจะมอบหมายและติดตามว่าผู้บริหารระดับสูงได้ดำเนินการตามความจำเป็นในการค้นหา ระบุ วัดผล ติดตามและควบคุมความเสี่ยงสำคัญที่คณะกรรมการได้มอบหมายและมรการจัดทำระบบการควบคุมภายในที่มีประสิทธิผล และให้มีการใช้บังคับจริงในภาคปฏิบัติ

(4)  คณะกรรมการควรจะกำหนดกรอบการกำกับดูแลกิจการที่ดี ให้แนวทางที่ควรจะดำเนินการและติดตามการดำเนินงานของผู้บริหารระดับสูงในภาพรวมที่เกี่ยวข้อง

(4.1) ประสิทธิผลของระบบการควบคุมภายในที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน

(4.2) ทบทวนและมรการประเมินผลของการนำการควบคุมภายในใช้ในภาคปฏิบัติ

(4.3) การปรับปรุง แก้ไข เพิ่มเติมการควบคุมภายในตามความเห็นของผู้ตรวจสอบภายในและผู้ตรวจสอบภายนอก หรือผุ้สอบบัญชีในประเด็นที่ยังเป็นจุดอ่อนของการควบคุมภายใน

(5)  คณะกรรมการบริษัทและผู้บริหารระดับสูงควรมีความรับผิดชอบร่วมกันในการส่งเสริมการใช้มาตรฐานด้านจริยธรรมและความซื่อสัตย์ ตลอดจนปลูกฝั่งวัฒนธรรมภายในกิจการที่เน้นหนักและแสดงให้เห็นเป็นตัวอย่างถึงการให้ความสำคัญกับการควบคุมภายใน โดยบุคลากรทุกคนต้องมีความเข้าใจในบทบาทของตนในกระบวนการควบคุมภายใน และนำเอาการควบคุมภายในไปใช้กำกับงานของตนอย่างเหมาะสม

(6)  บุคลากรต้องสามารถอธิบายการควบคุมภายในที่ใช้กำกับงานของตนได้ และต้องมีความสอดคล้องกับระบบการควบคุมภายในขององค์กร ควบคู่กับการช่วยเหลือและมีส่วนร่วมในการเฝ้าระวัง และให้เบาะแสแก่ผู้บริหาร กรณีที่พบปัญหาในการดำเนินงาน การปฏิบัติที่ไม่เหมาะสม ฝ่าฝืนกฎเกณฑ์ การกระทำที่ไม่พึงประสงค์ที่เกิดขึ้นภายในองค์กร และมรการสื่อสารอย่างชัดเจนว่าการปกปิดข้อมูล การกระทำผิดของบุคคลอื่นถือว่าเป้นความผิดด้วย

บทเรียนที่เรียนรู้จากความล้มเหลวที่เกิดในอดีต

(1)   วัฒนธรรมด้านการควบคุมภายในของกิจการไม่เข้มแข็ง ซึ่งมาจากการที่

(1.1) คณะกรรมการบริษัท ผู้บริหารระดับสูงล้มเหลวในการบกระดับการควบคุมภายในขึ้นมามีความสำคัญ

(1.2) ขาดคำพูด การกระทำ ตัวอย่าง เงื่อนไขและการสื่อสารที่ทำให้บุคลากรในองค์กรต้องปฏิบัติตามผู้นำในด้านการควบคุมภายในในการปฏิบัติงาน

(1.3) ขาดความเชื่อมความเชื่อมโยงระหว่างผลสำเร็จหรือความล้มเหลวของการควบคุมภายในกับการประเมินผลการปฏิบัติงานและระบบแรงจูงใจและผลตอบแทนการปฏิบัติงาน

(2)   ผู้บริหารระดับสูงไม่ได้จัดวางโครงสร้างองค์กร การกำหนดหน้าที่ความรับผิดชอบในการบริหารและการปฏิบัติงานให้มีการกำกับด้วยการควบคุมภายในที่ชัดเจน โดยเฉพาะหน้าที่และความรับผิดชอบของหน่วยงานการกำกับระบบการควบคุมภายใน

(3)  ผู้บริหารระดับสูงไม่ได้วางเงื่อนไขในการจัดทำระบบรายงานและMISที่จะใช้ประกอบกับการตัดสินใจในการดำเนินธุรกิจ เพิ่มกิจกรรมการควบคุมภายในเพิ่มเติม

(4)  ผู้บริหารระดับสูงไม่ได้กำหนดระบบแรงจูงใจและผลตอบแทนในการปฏิบัติงานที่ต้องการควบคุมภายในในการแก้ไขปัญหา และผลงานด้านการพัฒนาและต่อยอดการควบคุมภายในจนทำให้ผลการดำเนินงานลุล่วงตามเป้าหมาย หรืองานการควบคุมภายในไม่ใช่เป้าหมายการปฏิบัติงาน

(5)  ผู้บริหารระดับสูงไม่ได้วางกฎเกณฑ์หรือมอบหมายอย่างชัดเจนและเข้มงวดกับการที่ทุกฝ่ายงานและเจ้าของงานทุกคนจะต้องทำการปรับปรุงระบบการควบคุมภายในของตนตามความเห็นของผลการตรวจสอบภายในโดยเคร่งครัด

(6)  คำอธิบายลักษณะงานในแต่ละตำแหน่งไม่ได้ระบุข้อความท่าเกี่ยวข้องกับ “การกำกับตนเองด้านการควบคุมเพื่อให้ผลการปฏิบัติงานลุล่วงและบรรลุผลสำเร็จ” และไม่ถือว่าการพัฒนาสมรรถนะในการพัฒนาตนเองด้านการกำกับและควบคุมงานเป็นส่วนหนึ่งของCompetency รายบุคคล

 

สนใจเชิญบรรยายหัวข้อนี้ติดต่อ sumetheeprasit@hotmail.com

 

 

มีนาคม 22, 2014 Posted by | ไม่มีหมวดหมู่ | , , | ใส่ความเห็น